ขายของออนไลน์ เริ่มขายอะไรดี แนะนำเทคนิค วิธีการในการขายสินค้าออนไลน์
ในปัจจุบันมีผู้คนมากมายที่ให้ความสนใจกับการ ขายของออนไลน์ เพราะกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และทำได้ง่าย ลงทุนต่ำ ที่สำคัญสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้เป็นอย่างดี จึงเป็นการเพิ่มโอกาสในการขาย อย่างไรก็ตามการขายของออนไลน์ก็มีคู่แข่งเยอะ(เพราะทำได้ง่าย) ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อลดความเสี่ยงในการขาดทุน และเพิ่มโอกาสในการทำกำไรให้ได้มากที่สุด
ร้านค้าออนไลน์ (E-commerce) คืออะไร
ร้านค้าออนไลน์ (E-commerce) รูปแบบหนึ่งในการขายของบนอินเทอร์เน็ต เป็นที่นิยมในไทยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงขึ้น เพราะตลาดออนไลน์เป็นตลาดที่เปิดกว้าง ใครก็สามารถเปิดร้านค้าออนไลน์ได้อย่างไม่ยุ่งยาก การเปิดร้านค้าออนไลน์จึงได้รับความนิยม จากกลุ่มคนที่ต้องการหารายได้พิเศษ ที่สำคัญคือต้นทุนต่ำ และสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างตรงหลุ่ม และรวดเร็ว
E-commerce ไม่เพียงแค่เหมาะกับพ่อค้าแม่ค้า ที่ต้องการขยายช่องทางขายบนอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ก็เหมาะกับบริษัท หรือโรงงานผลิต ที่อยากเปิดร้านค้าออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายเพิ่มเติม เพราะการขายสินค้าผ่านทางร้านค้าออนไลน์ จะช่วยลดต้นทุนได้เป็นอย่างมาก ไม่ต้องจ้างเซลล์ไปเสนอสินค้า ไม่ต้องเสียค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง
ร้านค้าออนไลน์ก็มีข้อเสียเช่นกัน เพราะการทำร้านค้าออนไลน์ จะต้องมีการอัพเดตอยู่ตลอดเวลา หมั่นโปรโมทร้านเสมอเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายขึ้น รวมถึงต้องพยายามโต้ตอบกับลูกค้าให้รวดเร็วทันใจ จึงไม่เหมาะกับคนที่ไม่เล่นอินเทอร์เน็ต ใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่ค่อยเป็นหรือไม่ค่อยมีเวลามากนัก ที่สำคัญจะต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้กับร้านด้วย โดยการไปจดทะเบียนอิเล็กทรอนิคการขายสินค้าออนไลน์ (อาจทำให้ผู้ขายต้องเสียภาษี) ดังนั้นการจะเปิดร้านค้าออนไลน์ได้ จึงต้องเช็คให้ดีก่อนด้วยว่า ตนเองมีความพร้อมมากแค่ไหน
ก่อนจะเปิดร้านขายของออนไลน์นั้น ควรเตรียมคิดสิ่งเหล่านี้ คิดพิจารณา วางแผนการดำเนินงานให้ดี อาจไม่ต้องคิดทั้งหมด 100% แต่ควรคิดกระบวนการเริ่มต้น แล้วค่อยๆ ลองลงมือทำอย่างจริงจัง เพื่อลดความเสี่ยงในการขาดทุน
การตั้งชื่อร้าน
การตั้งชื่อร้านมีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยดึงดูดลูกค้าได้ดี โดยหลักการที่เหมาะในการตั้งชื่อร้านก็คือ ต้องตั้งให้อ่านออกเสียงง่าย จำง่าย มีความเบสิคคุ้นหูคนส่วนใหญ่ และควรสัมพันธ์กับสินค้าที่ขาย ชสำหรับใครที่คิดจะตั้งชื่อร้าน ด้วยชื่อที่แปลกใหม่ ดูหรู ควรคิดให้ดีก่อนว่าจะทำให้ร้านของคุณรุ่งหรือร่วงกันแน่ เพราะหากชื่อร้านอ่านออกเสียงยากจนเกินไป ก็จะทำให้ลูกค้าไม่จดจำ และไม่กล้าที่จะแนะนำคนอื่นต่อ เนื่องจากกลัวอายหากออกเสียงผิด
สินค้าที่จะขาย
สินค้าที่จะขายในครั้งแรกควรเป็นสินค้าที่คุณมีความรู้อยู่แล้ว เพื่อจะได้ให้ข้อมูลกับลูกค้าได้อย่างไม่ติดขัด และการขายสินค้าที่ชอบก็เป็นการสร้างความสุขในการขายให้กับตัวเอง แต่สำหรับใครที่ไม่ได้ชอบสินค้าตัวไหนมากเป็นพิเศษ ก็อาจลองเลือกสินค้าด้วยการสำรวจตลาด ว่าสินค้าอะไรที่กำลังได้รับความนิยม และสามารถทำกำไรได้ดี ที่สำคัญควรจะมีต้นทุนต่ำ เพราะการขายของออนไลน์มักจะมีการตัดราคากันอยู่เสมอ หากเป็นสินค้าที่ต้นทุนสูง จึงอาจทำให้ขาดทุนได้
เงินทุน
การขายของออนไลน์มีทั้งแบบที่ต้องลงทุนและไม่ต้องลงทุน สำหรับใครที่ต้องการขายของออนไลน์แบบลงทุนด้วยการซื้อสินค้ามาสต็อคโดยตรง รวมถึงการทำโฆษณาเพื่อให้ร้านเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว ก็ต้องเช็คเรื่องเงินทุนให้ดี ตั้งแต่ค่าสินค้า ค่าบริการอินเทอร์เน็ต ค่าโฆษณา ค่าเว็บไซต์ในการเปิดร้านหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่สำคัญเงินที่นำมาลงทุนเริ่มต้นควรเป็นเงินของตัวเอง ไม่ใช่เงินกู้ยืม เนื่องจากหากไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ก็จะได้ไม่มีปัญหาหนี้สินตามมาให้กลุ้มใจ
- ค่าจดโดเมน 350-500 บาท/ต่อปี
- ค่าเช่า Host มีตั้งแต่ 500++ ต่อปี ขึ้นอยู่กับการใช้งานและคุณภาพ
- ค่าจัดทำเว็บไซต์ มีหลายราคา หลักร้อยไปถึงหลักแสน
- ค่าทำการตลาดออนไลน์ ประชาสัมพันธ์ ลงโฆษณา
จุดขายของร้าน
เมื่อมีสินค้าแล้ว ก็ต้องคิดถึง “จุดขาย” หรือจุดเด่น ของสินค้านั้นๆ เพื่อที่จะนำไปชนะคู่แข่งได้ บางครั้งการสร้างจุดขายที่ราคาถูกกว่า อาจไม่ใช่ข้อดีเสมอไป แต่หากคู่แข่งน้อย หรือคุณคือเจ้าตลาด ที่มีอำนาจในการผลิตสูง ควบคุมต้นทุนได้ แบบนั้นอาจทำใหุ้ณได้เปรียบกว่าคู่แข่งอื่นๆ
ช่องทางจำหน่าย
การเลือกขายของออนไลน์ ถือเป็นช่องทางหลักในการจำหน่าย แต่ก็มีช่องทางย่อยๆ บนอินเทอร์เน็ตอีกเหมือนกัน ซึ่งก็คือ เปิดแฟนเพจ Facebook, ไอจี, ร้านค้าออนไลน์, เว็บไซต์ เป็นต้น โดยช่องทางที่ได้รับความนิยมและสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายและเร็วที่สุด ก็คือการเปิดเพจ Facebook เพราะสามารถอัพเดทได้ง่าย ลงโฆษณาได้ตามงบ กำหนดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่จะแสดงโฆษณาได้
บริการเปิดร้านขายของออนไลน์ในไทย
แผนการตลาด
การขายของออนไลน์มีคู่แข่งสูงมาก การจะทำให้ร้านของตนเองได้รับความสนใจ และเป็นที่รู้จักแพร่หลายอย่างรวดเร็ว จึงต้องอาศัยการทำการตลาดเข้ามาช่วย เพื่อดึงดูดให้ลูกค้ามาสนใจมากขึ้น และสามารถเอาชนะร้านอื่นๆ ได้ โดยการวางแผนการตลาดก็สามารถเริ่มได้จากขั้นตอนดังต่อไปนี้
- กำหนดเป้าหมายที่ต้องการอย่างชัดเจน
- วางแผนขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
- กำหนดงบประมาณที่จะใช้ โดยวางแผนออกมาเป็นขั้นตอนว่าขั้นตอนไหนต้องใช้งบเท่าไหร่
- กำหนดเวลา เพื่อทำการประเมิน ตรวจสอบและปรับปรุงแผนให้เหมาะสมอยู่เสมอ
ช่องทางการชำระเงิน
ลูกค้าส่วนใหญ่จะนิยมซื้อสินค้าจากร้านที่มีช่องทางการชำระเงินที่ตอบโจทย์ได้ดีกว่า คือมีช่องทางการชำระเงินที่หลากหลาย และเป็นบัญชีธนาคารที่ตรงกับลูกค้า เพื่อจะได้มีตัวเลือกในการชำระมากขึ้น และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอนเงิน นอกจากนี้หากต้องการขายสินค้าให้กับลูกค้าที่อยู่ต่างประเทศ ควรเปิดบัญชีที่รองรับการโอนเงินจากต่างประเทศให้ดี อย่างเช่น Paypal และต้องวางแผนสำหรับการจัดส่ง เพื่อไม่ให้ขาดทุน
- ธนาคารกรุงเทพ
- ธนาคารกสิกรไทย
- ธนาคารไทยพาณิชย์
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
- ธนาคารกรุงไทย
- ธนาคารทหารไทย
- ธนาคารออมสิน
ความอดทนในการขาย
การทำธุรกิจต่างๆ จะต้องมีความค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงการขายของออนไลน์ ดังนั้นจึงต้องมีความอดทนสูง โดยเฉพาะในช่วงแรกของการเปิดร้าน เนื่องจากยังไม่มีลูกค้ารู้จักมากนัก จึงอาจทำให้แทบไม่มีลูกค้าเข้าร้านเลย แต่หากผ่านไปได้ระยะหนึ่ง มีการโปรโมทรวมถึงอัพเดตสินค้าในร้านอยู่ตลอดเวลา ก็จะเริ่มมีลูกค้ามาให้ความสนใจจนสามารถขายได้ดี และได้รับผลกำไรอย่างน่าพอใจ
ต้องมีเวลา
เวลาเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ล้วนต้องการบริการที่ดี และการโต้ตอบที่รวดเร็วของแม่ค้า ซึ่งหากตอบช้ามาก ก็อาจจะทำให้ลูกค้ารู้สึกหมดความอยาก และเปลี่ยนใจไม่ซื้อสินค้าของคุณในที่สุด ดังนั้นควรบริหารจัดการเวลาให้ดี และหมั่นตอบแชทลูกค้าให้รวดเร็วอยู่เสมอ
การเริ่มต้นขายของออนไลน์
สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มจะหัดขายของออนไลน์ จำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคและวิธีในการเริ่มต้นขายของออนไลน์ที่จะช่วยให้การเริ่มต้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในอนาคตมากขึ้น ซึ่งนอกจากการถามตัวเองว่าจะเริ่มต้นขายของออนไลน์อะไรดี ก็มีเรื่องควรรู้อื่นๆ สำหรับการเริ่มต้นขายของออนไลน์ดังนี้
- ลูกค้าส่วนใหญ่มักจะให้ความสนใจกับสินค้าที่ติดอันดับหน้าหนึ่งของ google เป็นอันดับแรกและให้ความสนใจมากกว่าสินค้าที่อยู่ในหน้าอื่นๆ ของการค้นหาบน google ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากและมีโอกาสขายสินค้าได้ง่ายกว่าเดิม ก็คือการทำให้เว็บไซต์หรือร้านค้าออนไลน์ของตนติดอันดับหน้าแรกของ google นั่นเอง
- จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ Keyword เป็นหลัก เพราะเป็นคำที่ลูกค้าจะใช้เพื่อค้นหาสินค้าหรือบริการที่ต้องการ
- สำหรับมือใหม่แนะนำว่าควรเลือกขายสินค้าบนช่องทางที่เปิดให้ขายฟรีจะดีที่สุด เพราะหากขายไม่ได้หรือไม่เป็นไปตามเป้าก็จะได้ไม่ต้องกังวลว่าจะขาดทุนจากการซื้อเว็บหรือทำเว็บไซต์มานั่นเอง นอกจากนี้ยังทำให้สินค้าติดอันดับการค้นหาหน้าหนึ่งได้ง่ายขึ้นอีกด้วย โดยช่องทางที่สามารถขายได้ฟรี เช่น ร้านค้าออนไลน์ฟรี เว็บไซต์แจกฟรี โซเชียลมีเดีย เป็นต้น
- หมั่นลงโฆษณาบนหน้าร้านของตนเองบ้าง โดยเฉพาะผู้ที่ขายสินค้าผ่านทาง facebook เพราะจะช่วยเรียกลูกค้าให้เข้ามาสนใจหน้าแฟนเพจขายสินค้าของตนเองมากขึ้น ซึ่งอาจจะลงโฆษณาวันละประมาณ 100-200 บาทก็ถือว่าไม่แพง แต่ต้องมั่นใจด้วยว่ายอดขายและกำไรที่ได้ในแต่ละวันจะมากพอที่จะไม่ทำให้ขาดทุนนั่นเอง และที่สำคัญควรศึกษาเกี่ยวกับการลงโฆษณาเหล่านี้ให้ดีก่อนด้วย
- ช่องทางในการติดต่อควรกำหนดให้มีหลากหลาย เพื่อให้ลูกค้ามีตัวเลือกในการติดต่อกับทางร้านมากขึ้น เช่น โทรศัพท์ facebook Line email เป็นต้น และที่สำคัญผู้ขายเองควรหมั่นเช็คช่องทางการติดต่อเหล่านี้อยู่เสมอ เพื่อจะได้ไม่พลาดการติดต่อกับลูกค้าบางคนไป และยังเป็นการสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าได้ดีอีกด้วย
- ควรตอบคำถามและปัญหาต่างๆ กับลูกค้าด้วยถ้อยคำที่มีความสุภาพ ไพเราะ อ่อนหวานและแสดงออกถึงความจริงใจอย่างแท้จริง และที่สำคัญควรมีความอดทนและควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ดีอยู่เสมอ เพราะคงไม่มีใครที่อยากซื้อสินค้ากับแม่ค้าที่พูดจาไม่ดีหรือพูดด้วยอารมณ์เหมือนหงุดหงิด รำคาญ ลูกค้าอย่างแน่นอน
- ควรอัพเดตการเคลื่อนไหวบนร้านค้าออนไลน์อยู่เสมอ เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นว่าแม่ค้ายังคงขายสินค้าอยู่ตามปกติ และยังเป็นการชักจูงให้ลูกค้าเกิดความสนใจในสินค้าและบริการมากขึ้น
- รูปสินค้า ควรเป็นรูปที่ถ่ายจากสินค้าจริง มีการถ่ายในหลายๆ มุมและจัดพื้นหลังได้อย่างสวยงาม เพื่อให้สินค้าดูน่าสนใจและสามารถดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น โดยอาจจะจ้างช่างถ่ายรูปที่เป็นมืออาชีพมาถ่ายให้ก็ได้
- สำหรับการตั้งราคาขาย ควรจำไว้ว่า กำไรที่ได้เมื่อคำนวณแล้วจะต้องไม่ต่ำกว่า 30% และเผื่อไว้สำหรับกรณีที่จะมีการจัดโปรโมชั่นลดราคาหรือ แถมของฟรีด้วย
- ควรระบุรายละเอียดของสินค้าอย่างชัดเจน โดยเฉพาะรายละเอียดสำคัญที่จำเป็นต้องมี เพื่อให้ลูกค้าทราบรายละเอียดได้ทันทีโดยไม่ต้องสอบถามเพิ่มเติม และยังเป็นการเพิ่มโอกาสที่ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อสินค้ามากขึ้นอีกด้วย
สินค้าออนไลน์ยอดนิยมที่น่าขาย
การเลือกสินค้าที่จะขายออนไลน์ สิ่งสำคัญหนึ่งก็คือ การเลือกตามแนวโน้มความนิยมของตลาดนั่นเอง เพราะหากสินค้าไม่ตรงตามเทรนด์ ก็จะทำให้ขายได้ยากพอสมควร แต่หากเป็นสินค้าตามเทรนด์แล้วล่ะก็ การทำยอดขายให้ได้เยอะๆ ก็ไม่ยากเกินไปอย่างแน่นอน โดยสินค้าออนไลน์ขายดีตามกระแสนิยมก็มีดังนี้
1. สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม
เพราะความสวยความงามและสุขภาพ เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ให้ความใส่ใจอยู่เสมอ ดังนั้นสินค้าเหล่านี้จึงสามารถนำมาขายได้แบบตลอดการ ไม่ว่าจะเป็นอาหารเสริมเพื่อสุขภาพและความงาม ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เครื่องสำอาง หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายต่างๆ รวมถึงเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพด้วย อย่างไรก็ตามการขายสินค้าเหล่านี้มักจะเสี่ยงต่อการโดนตรวจสอบได้สูง นั่นก็เพราะเป็นสินค้าที่มีผลต่อลูกค้าโดยตรง ดังนั้นหากคิดจะขาย ก็ควรศึกษาให้ดีซะก่อน
2. สินค้าแฟชั่น
สินค้าแฟชั่น เป็นสินค้าที่มีความอินเทรนด์และได้รับความนิยมอยู่เสมอ แต่เนื่องจากสินค้าที่นิยมมักจะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนแฟชั่นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นหากคิดจะขายสินค้าประเภทนี้ พ่อค้าแม่ค้าก็ต้องตามกระแสมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะคนที่สต็อกสินค้า ไม่แนะนำให้ซื้อสินค้ามาไว้เป็นจำนวนมาก เพราะเมื่อเทรนด์เปลี่ยน ก็จะทำให้ขายไม่ได้นั่นเอง แต่ทั้งนี้สินค้าแฟชั่นส่วนใหญ่ก็มักจะขายได้ในราคาดีและทำยอดขายได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน
3. บริการทัวร์และท่องเที่ยว
ในปัจจุบัน คนเริ่มหันมาใช้บริการทัวร์และท่องเที่ยวกับบริษัทนำทัวร์กันมากขึ้น ดังนั้นนี่จึงเป็นอีกสิ่งที่เหมาะกับการขายออนไลน์เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการทัวร์ในประเทศหรือทัวร์ต่างประเทศก็ตาม แถมขายง่าย เพียงแค่เปิดแฟนเพจขึ้นมา และทำการโพสต์แพ็คเกจทัวร์ลงไป สร้างเพจให้น่าดึงดูดพร้อมทำการโปรโมทอยู่เสมอ เท่านี้ก็สามารถขายได้ไม่ยาก
4. ไอที
อีกหนึ่งสินค้าออนไลน์ที่ขายดีไม่แพ้สินค้าประเภทอื่นๆ เลยทีเดียว แต่เนื่องจากสินค้าไอทีก็เหมือนกับสินค้าแฟชั่น กล่าวคือ มาไวไปไว เมื่อมีสินค้ารุ่นใหม่ออกมา สินค้ารุ่นเก่าก็จะตกรุ่นและหมดความนิยมไปในทันที เพราะฉะนั้นผู้ที่จะขายสินค้าไอทีก็ต้องมีการวางแผนสักหน่อย เพื่อที่เมื่อลงทุนไปแล้วจะได้ไม่สูญเปล่าไปกับการขาดทุน เนื่องจากขายไม่ได้นั่นเอง
5. ของแต่งบ้าน
กระแสการตกแต่งบ้านให้เป็นที่นิยมกำลังมาแรง ดังนั้นของตกแต่งบ้านจึงเป็นสินค้าที่เหมาะจะขายออนไลน์เช่นกัน โดยสินค้าแต่งบ้านที่ว่านี้ ก็รวมไปถึงพวกเฟอร์นิเจอร์ ชุดเครื่องนอน และสิ่งของงานประดิษฐ์ต่างๆ ที่จะทำให้บ้านดูสวยโดดเด่นและน่าอยู่ด้วย ส่วนใครที่พอมีฝีมือในงานประดิษฐ์ จะประดิษฐ์สินค้าแต่งบ้านขึ้นมาขายเองก็ได้เหมือนกัน
จริงหรือ? ลูกค้าไม่เชื่อรีวิวของร้านค้าออนไลน์
ในการขายของออนไลน์ แม่ค้าพ่อค้าส่วนใหญ่นิยมจ้าง Influencer แบบต่างๆ ให้มาช่วยพูดเชียร์สินค้าของตนให้มีความน่าสนใจและสามารถดึงดูดลูกค้าได้ดี และทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น แต่ในปัจจุบันกลับมีปัญหาที่ว่า ลูกค้าเริ่มไม่เชื่อรีวิว แม้ว่าจะเป็นการรีวิวจาก Influencer ชื่อดังหรือดาราก็ตาม
ความจริงใจคือสิ่งสำคัญ
เนื่องจากรีวิวส่วนใหญ่มักจะเน้นพูดถึงสินค้าและบริการในด้านดีเท่านั้น โดยไม่พูดถึงข้อเสียเลย จึงทำให้รีวิวดูไม่น่าเชื่อถือ และทำให้ลูกค้ารู้สึกเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ดังนั้นในการจ้าง Influencer เพื่อทำการรีวิว ควรให้ผู้รีวิวได้แสดงความคิดเห็นของตังเองลงไปด้วย ไม่ใช่แค่พูดถึงด้านดีของสินค้าเท่านั้น ต้องพยายามรีวิวอย่างแนบเนียนที่สุด เพื่อให้ผู้อ่านไม่รู้สึกว่ากำลังถูกหลอกขายอยู่
รีวิวจากกล่องแชท
เป็นการรีวิวที่พบได้บ่อยมากในปัจจุบัน ซึ่งก็คือรูปภาพของการแชทระหว่างแม่ค้าและลูกค้าในกล่องแชทนั่นเอง โดยลูกค้าก็จะบอกประมาณว่าปลื้มและชอบสินค้าแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งการรีวิวแบบนี้อาจดูน่าเชื่อถือ แต่ความจริงแล้วไม่ว่าใครก็สามารถทำได้ จึงทำให้ลูกค้าเกิดความสับสนว่าเป็นรีวิวที่จัดทำขึ้นมาเองหรือเป็นของจริงกันแน่ แต่ถ้ามีจำนวนมากพอ ก็จะทำให้ดูน่าเชื่อถือขึ้นได้
ความน่าเชื่อถือของการรีวิว
Influencer ก็คือผู้ที่มีอิทธิพลต่อผู้ชม โดยจะสามารถโน้มน้าวให้ผู้อื่นรู้สึกสนใจในสิ่งที่ Influencer ทำการรีวิวหรือนำเสนอได้ แต่ก็มีระดับความน่าเชื่อถืออยู่หลายระดับเหมือนกัน ซึ่งได้แก่
1. เซเลป
การรีวิวจากเซเลป (ดาราดัง) จะมีความน่าเชื่อถือมากที่สุด เพราะเป็นคนที่มีชื่อเสียงและมีผู้คนรู้จักแทบทั้งประเทศ การรีวิวจากเซเลปจึงมักจะได้ผลดีมากกว่าการรีวิวจากบุคคลอื่น
2. Expert Influencer
การรีวิวจากบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ โดยตรง ซึ่งจะมีระดับความน่าเชื่อถืออยู่ในลำดับสอง รองลงมาจากเซเลป ได้แก่ นักข่าวไอที เจ้าของเพจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่รีวิว เหล่า Beauty Blogger เป็นต้น
3. บุคคลทั่วไป
มีระดับความน่าเชื่อถือต่ำสุด โดยส่วนใหญ่จะเป็นการรีวิวด้วยการคอมเม้นต์ และบอกต่อบุคคลอื่นแบบปากต่อปาก แต่หากมีการรีวิวจากบุคคลทั่วไปเยอะๆ ก็จะเพิ่มความน่าเชื่อถือได้มากเช่นกัน
ในปัจจุบันการรีวิวผ่านเซเลปและ Expert Influencer ยังคงได้ผลดีอยู่ แต่ก็ไม่มากนัก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะทราบดีอยู่แล้วว่าคนเหล่านี้ถูกจ้างให้มารีวิวสินค้า ลูกค้าส่วนใหญ่จึงรับรู้จากการดูรีวิวเหล่านี้เพียงว่ามีสินค้าออกใหม่แล้วนะ แต่ไม่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อมากนัก
แต่ในขณะเดียวกันในกลุ่มผู้รีวิวที่มีความน่าเชื่อถือต่ำอย่างบุคคลธรรมดา กลับได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้น เพราะเป็นบุคคลที่อยู่ในระดับเดียวกันกับลูกค้า และถูกมองว่าน่าจะเป็นผู้ที่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์จริงๆ แล้วมารีวิวมากกว่า
เทคนิคน่ารู้ ในการตั้งชื่อเพจร้านค้าบน Facebook
การตั้งชื่อเพจร้านค้าบน Facebook ควรตั้งให้มีความน่าสนใจ โดยมีหลักการตั้งดังนี้
- กรณีที่มีชื่อแบรนด์สินค้า สามารถตั้งชื่อเพจเป็นชื่อแบรนด์ได้เลย และตามด้วยคำค้นหาที่มักจะถูกค้นมากที่สุด
- กรณีที่ไม่มีชื่อแบรนด์ แนะนำให้ตั้งชื่อเพจเป็นชื่อที่สามารถค้นหาบน google ได้ง่าย และมักจะถูกค้นหามากที่สุด
วิธีการประชาสัมพันธ์เพื่อให้มีผู้คนรู้จักแฟนเพจมากขึ้นก็มี 2 วิธี โดยวิธีแรกเป็นวิธีที่ไม่ต้องเสียเงิน แต่ต้องใช้ระยะเวลาและมีเวลาพอสมควร เพื่อกระจายเพจไปตามเว็บไซต์ บล็อกหรือเว็บบอร์ดต่างๆ ให้คนเห็นมากขึ้น และอีกวิธีคือวิธีที่ต้องเสียเงิน แต่สามารถทำให้เพจเป็นที่รู้จักได้อย่างง่ายดาย ด้วยการซื้อโฆษณากับทาง facebook
การโพสต์ข้อความ เพื่อทำการขายสินค้าผ่านทาง facebook ไม่ควรสั้นหรือยาวจนเกินไป แต่ควรมีใจความสำคัญและรายละเอียดอย่างครบถ้วน โดยจากสถิติพบว่า ข้อความควรมีความยาวไม่เกิน 5 บรรทัด และประกอบไปด้วยสิ่งสำคัญ 3 อย่างด้วยกัน คือ ราคาสินค้า ชื่อสินค้า และเบอร์หรือช่องทางในการติดต่อ โดยข้อมูลเหล่านี้จะทำให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ความต้องการของลูกค้า
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าบางกลุ่มไม่กล้าซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ นั่นก็เพราะข้อจำกัดหลายๆ อย่างในเรื่องความต้องการของลูกค้า เช่น ไม่สามารถลองสินค้าก่อนซื้อได้ กลัวสินค้าที่ได้จะไม่ตรงกับที่โฆษณาไว้ หรือกลัวว่าเมื่อซื้อมาแล้วจะไม่สามารถใช้ได้ ดังนั้นจึงต้องมีการวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า เพื่อปรับปรุงเว็บหรือร้านค้าออนไลน์ของตนให้ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่สุด โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะมีความต้องการดังนี้
ความประทับใจแรก
ลูกค้าส่วนใหญ่ล้วนต้องการความประทับใจที่เกิดขึ้นทันที เมื่อเปิดเข้าไปในเว็บไซต์หรือแฟจเพจ facebook ซึ่งเมื่อเกิดความประทับใจแล้ว ก็จะทำให้ลูกค้าอยากกลับมาใช้งานเว็บไซต์นั้นบ่อยขึ้น และยังเป็นการเพิ่มโอกาสที่ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อสินค้ามากขึ้น โดยจุดสำคัญหลักๆ ที่ลูกค้าอยากได้เมื่อเข้าใช้งานเว็บครั้งแรก ก็มี 3 อย่างดังนี้
- การออกแบบที่สวยงาม เรียบง่าย ดูสะดุดตา
- การใช้งานง่าย และรายละเอียดที่ทำให้เข้าใจได้ง่าย
- ความรวดเร็วในการเข้าเว็บและการลิ้งค์ไปยังแต่ละเว็บเพจ
สำหรับคนที่กำลังต้องการจะเปิดเว็บไซต์หรือแฟนเพจเพื่อขายของ ควรเช็คดูก่อนว่า ร้านค้าออนไลน์ของตนมีครบทั้ง 3 ข้อนี้หรือไม่ นอกจากนี้ควรมีการรองรับทั้งการใช้งานบน PC และสมาร์ทโฟนด้วย
การบอกต่อในโซเชียลมีเดีย
กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่มักจะตัดสินใจซื้อสินค้า จากการบอกต่อของคนใกล้ตัวหรือคนรู้จักก่อนเป็นหลัก เพราะดูมีความน่าเชื่อถือมากกว่า แล้วจึงเชื่อการรีวิวบนโซเชียลมีเดียและเว็บต่างๆ เป็นลำดับต่อไป ดังนั้นการบอกต่อบนโซเชียลมีเดียจึงมีความสำคัญมาก โดยเริ่มแรกผู้ขายอาจจะบอกต่อไปกับเพื่อน คนรู้จักหรือญาติพี่น้อง จากนั้นกลุ่มคนเหล่านี้ก็จะบอกต่อไปเรื่อยๆ จนทำให้มีผู้คนสนใจและมาซื้อสินค้าในที่สุด จึงไม่ควรมองข้ามเทคนิคการบอกต่อเป็นอันขาด
การสร้างความน่าเชื่อถือ
การขายของออนไลน์ส่วนใหญ่ จะกำหนดให้ลูกค้าโอนเงินชำระค่าสินค้าและบริการเข้ามาก่อน จึงจะจัดส่งสินค้าไปให้ ดังนั้นจึงต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้กับระบบการชำระเงินด้วย โดยดูว่าเว็บมีระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลมากน้อยแค่ไหน และเชื่อถือได้หรือไม่ ซึ่งก็อาจจะกำหนดระบบการชำระเงินให้เป็นสากลมากขึ้น เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกไว้วางใจและสบายใจได้ว่าเมื่อจ่ายเงินกับทางร้านจะได้รับสินค้าแน่นอน
บนหน้าเว็บควรมีช่องทางการติดต่อ เพื่อให้ลูกค้าสามารถติดต่อกับผู้ขายได้อย่างรวดเร็ว และลงรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลการติดต่อให้ครบถ้วน รวมถึงควรมีนโยบายในการรับประกันสินค้า เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้นไปอีก
เปลี่ยนลูกค้าธรรมดาให้เป็นลูกค้าประจำ
อย่าปล่อยให้ลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าเพียงครั้งเดียวแล้วผ่านไปเลยโดยไม่กลับมาอีก ควรจัดโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าเกิดความสนใจและอยากมาเป็นลูกค้าประจำมากขึ้น เช่นจัดโปรโมชั่นคูปองส่วนลด เมื่อซื้อสินค้าครั้งต่อไป หรือชักชวนให้ลูกค้ากลับมารีวิวหลังจากใช้สินค้าเรียบร้อยแล้ว โดยยื่นข้อเสนอเป็นคูปองส่วนลดให้เมื่อซื้อสินค้าครั้งต่อไป
การสร้างความน่าเชื่อถือบนร้านค้าออนไลน์
เนื่องจากในปัจจุบันมีเว็บไซต์หลอกลวงเป็นจำนวนมาก ทำให้ลูกค้าเริ่มขาดความมั่นใจและระมัดระวังในการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นการจะขายของออนไลน์ ก็ต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้กับร้านเป็นสำคัญ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกเชื่อใจและตัดสินใจซื้อสินค้าด้วยนั่นเอง โดยมีวิธีการสร้างความน่าเชื่อถือบนร้านค้าออนไลน์ด้วย 7 วิธีง่ายๆ ดังนี้
- บอกเบอร์โทรศัพท์บนหน้าเว็บอย่างชัดเจน เพื่อให้ลูกค้าติดต่อได้ง่าย และยังเป็นการแสดงให้เห็นได้ว่าร้านมีตัวตนจริง ซึ่งจะทำให้กลุ่มลูกค้ารู้สึกมั่นใจขึ้นมาในระดับหนึ่ง ที่สำคัญควรเป็นเบอร์ของตัวเองจริงๆ และเป็นเบอร์ที่ติดต่อได้ง่ายด้วย
- มีการอัพเดตเนื้อหาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกค้าเห็นว่าร้านมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลาและร้านยังเปิดอยู่แน่นอน โดยสำหรับเนื้อหาที่จะนำมาอัพเดตนั้น นอกจากจะเป็นสินค้าที่ขายแล้ว ก็อาจเป็นเนื้อหาที่ให้ความรู้ต่างๆ ด้วยก็ได้ เพียงแต่ต้องเป็นเนื้อหาที่มีคุณภาพ สร้างจุดสนใจได้ดี และไม่ดูน่าเบื่อจนเกินไปนั่นเอง หรือหากคิดไม่ออก การแชร์ภาพที่ทำให้อารมณ์ดีก็ช่วยได้เหมือนกัน
- ทำร้านให้เหมือนมนุษย์ นั่นคือการทำร้านให้ดูมีชีวิตจริงๆ ด้วยการเปิดเผยหน้าตาและประวัติบางส่วนของแม่ค้า รวมถึงมีการพูดคุยตอบโต้เพื่อสร้างความคุ้นเคยและเป็นกันเองกับลูกค้าอยู่เสมอ โดยวิธีนี้นอกจากจะทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นและอยากซื้อสินค้ากับทางร้านมากขึ้นแล้ว ก็ยังสร้างความประทับใจให้ลูกค้ารู้สึกพึงพอใจได้ดีอีกด้วย ซึ่งก็รับรองเลยว่าขายได้แน่นอน
- โชว์รีวิวของลูกค้าจริง เพราะลูกค้าส่วนใหญ่มักจะตัดสินใจจากการได้ชมรีวิวของผู้ที่เคยซื้อสินค้าหรือบริการมาก่อน ดังนั้นการนำรีวิวของลูกค้ามาโชว์ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะเพิ่มยอดขายได้ดี และสามารถเพิ่มความน่าเชื่อถือได้อีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามรีวิวที่นำมาใช้ ควรจะเป็นรีวิวจากลูกค้าที่มีตัวตนจริงๆ ซื้อจริงและใช้สินค้าจริง โดยทำเป็นภาพก่อนและหลังใช้สินค้า หรือจะทำเป็นข้อความการสัมภาษณ์ก็ได้
- ลงรายละเอียดให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับแม่ค้า การติดต่อ หรือรายละเอียดของสินค้า โดยรายละเอียดหลักๆที่ควรจะมีก็คือ ชื่อสินค้า สี ไซส์ ราคาและเงื่อนไขการจัดส่ง ส่วนรูปภาพ ถ้าเป็นรูปที่ถ่ายเองก็จะดีมาก เพราะแสดงให้เห็นได้ว่าแม่ค้ามีสินค้าพร้อมขายอย่างแน่นอน และไม่ใช่การเซฟรูปจากที่อื่นมาขายเพื่อหลอกลวงนั่นเอง
- ต้องมีความโปร นั่นก็คือการเป็นแม่ค้าพ่อค้าแบบมืออาชีพนั่นเอง โดยมีความเข้าใจในสินค้าทุกตัว สามารถตอบคำถามลูกค้าได้อย่างไม่มีติดขัดเสมอ และที่สำคัญจะต้องใส่ใจในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นตำหนิบนภาพ ขนาดภาพที่ดูใหญ่หรือเล็กเกินไป และการสะกดคำที่ถูกต้อง เป็นต้น นอกจากนี้จะต้องมีการอัพเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลาด้วย
- อย่าลืมข้อมูล เกี่ยวกับเรา คำถามที่ถามบ่อยและการการันตี โดยในส่วนเกี่ยวกับเราก็อาจพูดถึงประวัติของทางร้านเล็กน้อย และมีการแนะนำตัวเจ้าของร้านเพื่อสร้างความเป็นกันเองด้วยก็ได้ ส่วนคำถามที่ถามบ่อย ก็ให้ลองเลือกคำถามที่พบบ่อยๆ จากลูกค้ามาเขียนและตอบเอาไว้ ลูกค้าที่มีความสงสัยเดียวกันจะได้อ่านทำความเข้าใจได้เลยโดยไม่ต้องถามให้เสียเวลานั่นเอง และสุดท้ายก็คือการการันตี โดยจะต้องการันตีอย่างพอเหมาะไม่ดูเกินจริง เท่านี้ก็จะสร้างความเชื่อถือให้กับลูกค้าได้ไม่ยาก
กฎในการซื้อของออนไลน์ที่ร้านค้าต้องทำให้ได้
และนี่ก็คือกฎในการซื้อของออนไลน์ที่ลูกค้าส่วนใหญ่ยึดถือ ดังนั้นเหล่าแม่ค้าพ่อค้าจึงต้องทำให้ได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายให้กับร้านของตัวเองนั่นเอง
1. ต้องแจ้งราคาและรายละเอียดสินค้า
การแจ้งราคาและรายละเอียดของสินค้าแบบชัดเจน เป็นการแสดงความจริงใจต่อลูกค้า ซึ่งจะทำให้ลูกค้ารู้สึกมั่นใจมากขึ้น โดยจะสังเกตได้ว่าลูกค้าส่วนใหญ่ หากพบว่าสินค้าที่ขายไม่มีราคาหรือมีรายละเอียดไม่มากพอก็จะตัดสินใจไม่ซื้อทันที และไปหาซื้อจากร้านอื่นๆ ที่มีการระบุราคาแน่นอนมากกว่า ดังนั้นผู้ที่เปิดร้านค้าออนไลน์ จึงต้องระบุราคาสินค้าพร้อมให้รายละเอียดอย่างชัดเจน หรือหากมีเงื่อนไขราคา ก็อาจระบุเป็นช่วงราคา เช่น 80-100 บาท แทนก็ได้
2. มีหน้าร้านหรือที่อยู่
ลูกค้าส่วนใหญ่จะให้ความสนใจกับร้านที่มีที่อยู่อย่างชัดเจนมากกว่า เพราะจะทำให้รู้สึกว่าปลอดภัยแน่นอน โดยเฉพาะร้านที่มีหน้าร้านจริง ไม่ใช่แค่ขายออนไลน์เท่านั้น แต่หากเป็นการขายออนไลน์ที่ไม่มีหน้าร้าน ก็ให้บอกที่อยู่บ้านแทน และจะต้องเป็นที่อยู่จริงๆ ไม่ใช่โกหกขึ้นมาด้วย
3. ข้อมูลผู้ขายสามารถสืบค้นได้
เพราะพวกมิจฉาชีพมักจะมีการแอบอ้างชื่อของผู้อื่นมาใช้ในการหลอกลวงอยู่เสมอ ดังนั้นนอกจากจะต้องมีข้อมูลผู้ขายอย่างครบถ้วนแล้ว ข้อมูลเหล่านั้นก็จะต้องสืบค้นได้จริงๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น facebook เบอร์โทร อีเมลล์หรือข้อมูลอื่นๆ ที่ผู้ขายได้ลงในประกาศไว้ เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้ลูกค้าเชื่อใจและเพิ่มโอกาสในการทำยอดขายได้ดี ก็อย่าลงข้อมูลปลอมเด็ดขาด
4. เบอร์โทรต้องโทรติดต่อไปเสมอ
เพื่อความมั่นใจ ลูกค้าบางคนมักจะลองโทรเข้าเบอร์โทรศัพท์ที่ผู้ขายแจ้งไว้ก่อน เพื่อดูว่าใช่เบอร์ผู้ขายจริงหรือไม่ และโทรติดไหม ซึ่งหากโทรไปแล้วผู้ขายรับพร้อมตอบคำถามลูกค้าทุกครั้ง ก็จะทำให้ลูกค้ามั่นใจและตัดสินใจซื้อสินค้ากับทางร้าน แต่หากโทรไปไม่ติด หรือโทรไป 2-3 ครั้งก็ไม่มีคนรับเลย แบบนี้ลูกค้าก็จะขาดความมั่นใจไปทันที เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากเสียลูกค้า ควรให้เบอร์โทรจริงๆ และต้องโทรติดเสมอด้วย
5. มีการตอบกลับการสั่งซื้อของลูกค้าเป็นหลักฐาน
การทำการซื้อขายกันบนอินเทอร์เน็ต ควรมีการตอบกลับรายการสั่งซื้อและการแจ้งชำระเงินของลูกค้า เพื่อเป็นหลักฐานว่าได้มีการซื้อขายสินค้ากันจริง กล่าวคือ เมื่อลูกค้าทำรายการสั่งซื้อสินค้าไป ผู้ขายได้รับแล้วก็ให้ตอบ Reply กลับมา และเมื่อลูกค้าโอนเงินพร้อมแจ้งชำระ ก็ให้ผู้ขายทำการตอบกลับเป็นการรับทราบถึงการชำระเงินดังกล่าวด้วย ซึ่งลูกค้าก็จะทำการบันทึกเก็บไว้เพื่อใช้เป็นหลักฐานหากทางร้านโกงไม่ส่งสินค้าให้จริง ดังนั้นผู้ขายไม่ควรละเลยตรงจุดนี้เด็ดขาด เพราะจะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือได้ดีนั่นเอง
คนไทยส่วนใหญ่มักจะซื้อของออนไลน์ไม่เกิน 1,000 บาท
จากการสำรวจโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้ผลสรุปว่า คนไทยส่วนใหญ่มักจะซื้อสินค้าออนไลน์ที่ราคาครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท ยกเว้นสินค้าทางการลงทุน ทางการเงินและการท่องเที่ยว ดังนั้นผู้ที่คิดจะเปิดร้านค้าออนไลน์ ควรเลือกขายสินค้าที่มีราคาต่อชิ้นไม่ถึง 1,000 บาทจะดีที่สุด ซึ่งก็ได้มีการสรุปรายการสินค้าที่ถูกซื้อมากที่สุดดังนี้
สินค้าและบริการที่มีการสั่งซื้อมากที่สุด 3 อันดับแรก
- สินค้าแฟชั่น สั่งซื้อมากถึง 42.6%
- สินค้าไอที เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์และอุปกรณ์เสริมต่างๆ สั่งซื้อมากถึง 27.5%
- สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม สั่งซื้อที่ 24.4%
สินค้าที่นิยมซื้อไม่เกิน 1,000 บาท เป็นอันดับ 1
- สินค้าพวกเพลง ภาพยนตร์และเกมออนไลน์ ในรูปแบบการดาวน์โหลด โดยซื้อที่ 78.8%
- สินค้าพวกเครื่องประดับและอัญมณีต่างๆ โดยซื้อที่ 57.0%
- สินค้าเพื่อความบันเทิง โดยซื้อที่ 45.3%
- สินค้ากลุ่มแฟชั่น เช่น เสื้อผ้าแฟชั่น โดยซื้อที่ 45.1%
ส่วนสินค้าที่มีราคามากกว่า 10,000 บาทขึ้นไปนั้น ก็จะมีการลงทุนทางการเงินและการท่องเที่ยว โดยซื้อที่ 76.6% และ 37.2% ตามลำดับ
หากใครที่ต้องการยึดอาชีพ ขายของออนไลน์ ถ้าทุนทรัพย์ถึงควรขายทั้งแบบ Offline และ Online ควบคู่กันไป (ขายแบบมีหน้าร้านจริงพร้อมกับการขายบนร้านค้าออนไลน์) เนื่องจากคนรุ่นเก่าหรือวัยสูงอายุ มักจะไม่มีความเข้าใจในการซื้อสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ ไม่สะดวกในการโอนเงิน มีความคุ้นชินกับการซื้อของแบบทั่วไปมากกว่า